เอ็นไอเอ ไขคำตอบ อะไรคือ “อารีเทค” พร้อมส่องตัวอย่าง “4 สตาร์ทอัพสายอารี” กับการปฏิวัติโลกอุตสาหกรรมใหม่

#กรุงเทพธุรกิจ 28 สิ่งหาคม 2564

ดันไทยฐานดีพเทคโลก! ‘เอ็นไอเอ’ นำร่องดันธุรกิจสตาร์ทอัพกลุ่มอารีเทค ที่มีศักยภาพในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และโลกเสมือนจริง จับคู่ธุรกิจกับ 20 บริษัทขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี คาดปี 64 สตาร์ทอัพดังกล่าวจะได้รับการลงทุนไม่ต่ำกว่ารายละ 30 ล้านบาท

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เอ็นไอเอ ยังคงเดินหน้าผลักดันสตาร์ทอัพกลุ่ม “อารีเทค (ARI Tech) ได้แก่ A – Artificial Intelligence (เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) R-Robotics (เทคโนโลยีหุ่นยนต์) และ I- Immersive (เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง) ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้จัดกิจกรรม “Business Matching” ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในอีอีซี หรือ NIA Deep Tech Incubation Program @EEC

ซึ่งเป็นการเฟ้นหาสตาร์ทอัพด้าน ARI Tech ที่จะมีโอกาสทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี และพร้อมนำเทคโนโลยีเชิงลึกจากสตาร์ทอัพเหล่านี้เข้าไปช่วยเสริมประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีความสามารถในด้าน ARI Tech จำนวน 10 ราย จับคู่กับบริษัทที่ดำเนินงานในพื้นที่อีอีซีจำนวนกว่า 20 ธุรกิจ โดยมีเป้าหมายให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่เกิดการเรียนรู้การทำงานแบบสตาร์ทอัพ พร้อมดึงศักยภาพด้านต่าง ๆ มาช่วยแก้ไขปัญหา โดยสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกประกอบด้วย

1.Zeen: ระบบ AI บริหารจัดการการขายสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับร้านค้าปลีกอย่างถูกต้องและแม่นยำ

2. Crest Kernel: ระบบตรวจสอบความปลอดภัยและวิเคราะห์ข้อมูลการบริโภคจากข้อมูลภาพกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์

3. Verily Vision: ระบบกล้อง AI เก็บข้อมูลทะเบียนรถขนส่ง และหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์สินค้าอัตโนมัติสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์

4. AltoTech: AIoT แพลตฟอร์ม วิเคราะห์ ตรวจสอบ และจัดการการใช้พลังงานภายในโรงแรม

5. MOVEMAX: แพลตฟอร์มบริหารงานขนส่งและกระจายสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน

6. AUTOPAIR: แพลตฟอร์มบริหารจัดการชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดซื้อและบริหารค่าใช้จ่าย

7. GENSURV: รถฟอร์คลิฟท์ไร้คนขับ นำทางด้วยเลเซอร์ สำหรับการขนย้ายพาเลตในคลังและสายการผลิต

8. BlueOcean XRSIM+: ระบบจำลองการฝึกอบรมเสมือนจริง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมด้านไอโอที

9. ENRES: IoT และ AI platform สำหรับการบริการจัดการพลังงานเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย

และ 10. IFRA-Machine: แพลตฟอร์มไอโอทีจัดเก็บข้อมูลจากเครื่องจักร และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อลดการหยุดทำงานของเครื่องจักร

“กิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกกับบริษัท มากกว่า 20 บริษัท อาทิ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นทั้งพี่เลี้ยง (Mentor) ในการให้คำแนะนำ และเป็นพื้นที่ทดสอบโซลูชั่นการทำงานงานจริง (Sandbox) ระหว่างบริษัทพร้อมกับลูกค้า เพื่อยกระดับให้ผลิตภัณฑ์และบริการที่กำลังพัฒนาสามารถแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น”

ซึ่งจะช่วยเติมเต็มศักยภาพการเป็นสตาร์ทอัพที่สมบูรณ์แบบ เช่น การมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งสำคัญอย่างมากต่อการได้รับการระดมทุน การรู้จักวิธีคิดแบบ Growth Mindset ไม่มองว่าอุปสรรคคือปัญหาของการทำงาน รวมถึงพัฒนาระบบทางการตลาด ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2564 นี้สตาร์ทอัพทั้ง 10 ราย จะได้รับการลงทุนไม่ต่ำกว่ารายละ 30 ล้านบาท รวมทั้งมีโอกาสได้เติบโตได้ในทั้งพื้นที่อีอีซีหรือพื้นที่อื่นในระยะยาวโดยไม่ต้องแข่งขันสูง เนื่องจากเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่เลียนแบบได้ยาก ตลอดจนมีสตาร์ทอัพที่เป็นคู่แข่งจำนวนน้อยรายที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้

พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า NIA ยังคงตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพในด้านดีพเทค ให้เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 100 ราย ภายในปี 2566 เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับจุลภาค เช่น การเข้าไปแก้ไขปัญหาเกษตรกร การจัดการธุรกิจขนาดกลาง – เล็ก ต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจในระดับมหภาคด้วยการช่วยปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือธุรกิจแบบดั้งเดิมให้ไปสู่ความทันสมัยและแข่งขันได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

นอกจากนี้ ยังจะผลักดันสตาร์ทอัพให้เข้าสู่พื้นที่อีอีซีให้มากขึ้นโดยอาศัยปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่

  • มหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านงานวิจัย ที่มีไม่ต่ำกว่า 10 แห่งทั่วประเทศ และในพื้นที่อีอีซีมีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงสถาบันวิทยสิริเมธี (Vistec) ที่ขณะนี้ได้กลายเป็นจุดสำคัญในการกระจายนวัตกรรมและองค์ความรู้ให้แก่สตาร์ทอัพในระดับท้องถิ่น
  • เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพได้ทดลองใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ในผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทเอกชนรายใหญ่
  • การพัฒนาย่านนวัตกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก 4 ย่าน ได้แก่ ย่านนวัตกรรมบางแสน ย่านนวัตกรรมศรีราชา ย่านนวัตกรรมพัทยา ย่านนวัตกรรมอู่ตะเภา-บ้านฉาง รวมถึงกิจกรรมด้านอื่นที่ทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ทั้งการให้ทุนสนับสนุนผ่านโครงการนวัตกรรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม ย่านนวัตกรรมจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตในการลงทุน การสร้างเครือข่าย การรวมกลุ่มธุรกิจ และศูนย์รวมของโอกาสทางด้านอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรมอวกาศ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมพลังงาน ฯลฯ

“NIA เชื่อว่าอีอีซีจะเป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการเติบโต การลงทุน รวมถึงเป็นเมืองที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพด้านดีพเทค ดังเช่นที่กรุงเทพมหานครเคยได้รับการจัดอันดับและเป็นที่ยอมรับในด้านระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพระดับโลก โดยคาดหวังว่าพื้นที่ดังกล่าวก้าวไปสู่การเป็น Global Startup Hub หรือศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลกที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานและการรังสรรค์นวัตกรรรม รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากสตาร์ทอัพจากนานาชาติที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงได้เช่นเดียวกัน” พันธุ์อาจ กล่าว

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น